วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2556

บทบรรณาธิการ ภาค2 สมัยที่65 เล่ม3

                                         บทบรรณาธิการ          
  
                 คำถาม   ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ร้องขอให้ศาลออกคำบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและบริวารซึ่งไม่ยอมออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี จะต้องร้องขอภายในกำหนดระยะเวลาบังคับคดี 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 หรือไม่  
              คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่ 6724/2554  คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ย  ถ้าไม่ชำระให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 463/364 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้บังคับจากทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองได้จนครบ  จำเลยทั้งสองไม่ชำระโจทก์จึงขอออกหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาด 
                     โจทก์ยื่นคำร้องว่า  โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินที่ยึดพร้อมสิ่งปลูกสร้างได้จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีและได้จดทะเบียนใส่ชื่อของโจทก์ในฐานะเจ้าของที่ดินแล้ว  แต่จำเลยและบริวารยังคงอาศัยอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ขอให้ศาลออกคำบังคับให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว
                      ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ออกคำบังคับภายใน 30 วันนับแต่จำเลยได้รับคำบังคับ
                      จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่ง
                      ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า โจทก์ในฐานะผู้ซื้อทรัพย์ได้ยื่นคำขอต่อศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งออกคำบังคับให้แก่จำเลยทั้งสองโดยชอบแล้ว การบังคับคดีของโจทก์เป็นการกระทำในฐานะผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งถือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามบทบัญญัติแห่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา  309 ตรี มิใช่เป็นการรับสิทธิของโจทก์ผู้ฟ้องคดีมาบังคับซึ่งจะต้องร้องขอให้บังคับคดีภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง สิทธิในการบังคับคดีของโจทก์ในฐานะผู้ซื้อทรัพย์จึงไม่ขาดอายุความ พิพากษายืน
                      จำเลยที่ 2 ฎีกา
                      ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า ผู้ซื้อทรัพย์ต้องร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่พิพาทในกำหนดระยะเวลาบังคับคดี 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 หรือไม่  กรณีที่โจทก์ในฐานะผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์มาจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานบังคับคดีโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ขายให้แก่ผู้ซื้อ ผู้ซื้อได้ร้องขอให้ศาลออกคำบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและบริวารซึ่งไม่ยอมออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ตรี เป็นการใช้สิทธิบังคับคดีของผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์มาจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอันเป็นขั้นตอนการบังคับคดีภายหลังโจทก์ฝ่ายชนะคดีซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ฝ่ายแพ้คดีซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาภายในระยะเวลา 10 ปี ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แล้ว กรณีมิใช่เรื่องเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา และมิใช่การใช้สิทธิของโจทก์ที่เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และมิใช่การใช้สิทธิของโจทก์ที่เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับระยะเวลาการบังคับคดีตามมาตรา 271 มาบังคับได้ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งให้ออกคำสั่งบังคับจำเลยที่2 และบริวารออกไปจากที่พิพาทนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยทั้งสอง ฟังไม่ขึ้น
                      คำถาม  ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ เพราะหนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย ฟ้องแย้งจะตกไปด้วยหรือไม่
                      คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่ 8387-8391/2553   ธ. ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์เนื่องจากหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนตามกฎหมายรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้  ผลจึงเท่ากับว่าไม่มีตัวโจทก์เข้ามาฟ้องคดี ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ย่อมตกไป เพราะการดำเนินกระบวนพิจารณาตามฟ้องแย้งนั้นจะต้องมีตัวโจทก์เดิมที่จะเป็นจำเลยตามฟ้องแย้งอยู่ด้วย
                      คำถาม  ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 นั้น จำเลยด้วยกันเองจะมีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าวหรือไม่
                      คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่  5419/2554  มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 มีสิทธิยื่นคำร้องให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่  เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้   ซึ่งมาตรา 2 (4) ให้ความหมายของคำว่า ผู้เสียหาย ว่าหมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทน ดังนั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ถือว่าจำเลยที่ 2 มิใช่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4)
                      ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ต้องพิจารณาตามที่กฎหมายกำหนดไว้และข้อเท็จจริงในขณะที่ยื่นคำร้องว่าเป็นผู้เสียหายหรือไม่ เมื่อบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้เสียหายเท่านั้นที่ยื่นคำร้องได้และขณะยื่นคำร้องจำเลยที่ 2 ไม่ใช่  จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามบทบัญญัติดังกล่าว

                      คำถาม  ประวัติเกี่ยวกับการกระทำความผิด ศาลจะนำมารับฟังเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำความผิดในคดีที่ถูกฟ้องได้หรือไม่
                      คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่ 2069/2554  ที่พันตำรวจตรีสมคิดเบิกความว่า จำเลยที่ 2 มีประวัติเกี่ยวข้องกับเมทแอมเฟตามีน โดยเคยถูกจับข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามเอกสารหมาย จ. 10 นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/2 บัญญัติห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดครั้งอื่น ๆ เพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดในคดีที่ฟ้อง....ศาลจึงนำประวัติของจำเลยที่ 2 ที่เคยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษมารับฟังเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยทำผิดคดีนี้ไม่ได้ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นเมทแอมเฟตามีนของกลางได้จากจำเลยที่ 1 เพียงคนเดียว โดยจำเลยที่ 1 ยืนยันทันทีว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนรู้เห็น และจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธตลอดมาตั้งแต่ชั้นจับกุมจนถึงชั้นศาล พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2  ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
                      คำพิพากษาฎีกาที่ 7478/2554   ศาลอุทธรณ์นำพฤติการณ์แห่งคดีจากรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยมาวินิฉัยเพื่อใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำเลยหรือไม่มิได้ใช้รับฟังในฐานะเป็นพยานหลักฐานวินิจฉัยการกระทำที่ถูกฟ้องเพื่อลงโทษจำเลย  ประกอบกับศาลชั้นต้นได้แจ้งรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยไม่ค้าน ถือได้ว่าจำเลยยอมรับพฤติการณ์แห่งคดีตามรายงานดังกล่าว  การที่ศาลอุทธรณ์นำพฤติการณ์แห่งคดีจากรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยมาวินิจฉัยเพื่อใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย
                      คำถาม  บันทึกการจับกุมระบุว่า จำเลยที่ 1 รับเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจากจำเลยที่ 2 ถือเป็นคำรับสารภาพชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคท้าย หรือไม่
                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  6243/2554  บันทึกการจับกุมระบุว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2  ยืนยันให้การรับสารภาพและจำเลยที่ 1 ให้การรายละเอียดแก่เจ้าพนักงานว่ารับเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งมิใช่คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 2 ได้


                                                                                         นายประเสริฐ   เสียงสุทธิวงศ์
                                                                                บรรณาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น