วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

บทบรรณาธิการ ภาค 2 สมัย 66 เล่ม 1

                                 สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ได้เปิดการบรรยายภาคสองสมัยที่ 66 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 สำนักอบรมศึกษากฎหมายฯ ขอต้อนรับนักศึกษาทุกคนที่ได้มาศึกษา ณ สถาบันการศึกษาแห่งนี้
                 หนังสือรวมคำบรรยายเล่มนี้เป็นเล่มที่ 1 ของภาคการศึกษานี้ บทบรรณาธิการจะเป็นสื่อแจ้งข่าวความเคลื่อนไหวต่างๆ ตลอดจนแนวคำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจให้นักศึกษาทราบเป็นความรู้เพิ่มเติม แต่สิ่งที่นักศึกษาต้องปฏิบัติก็คือการฟังการบรรยายและอ่านคำอธิบายของอาจารย์สอนจะเป็นประโยชน์และเป็นการศึกษากฎหมายที่ถูกต้องยิ่งกว่า การเก็งข้อสอบมิใช่การศึกษากฎหมายที่ถูกต้องและไม่เหมาะสมสำหรับผู้ที่จะเป็นเนติบัณฑิต
                     นักศึกษาที่มาฟังการบรรยายต้องแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยเป็นการเคารพแก่สถาบันการศึกษาให้ความเคารพครูบาอาจารย์ และไม่ใช่เครื่องมือสื่อสารระหว่างการฟังการบรรยาย
                   ในการสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิตภาคหนึ่ง สมัยที่ 66 ปีการศึกษา 2556 ที่ผ่านมาผลการสอบปรากฏดังนี้
                     1. กลุ่มกฎหมายอาญา มีผู้เข้าสอบจำนวน 11,229  คน มีผู้สอบได้จำนวน 651 (คิดเป็นร้อยละ 5.80)
            ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด ชื่อ นายณัฐพล อุดมศิลป์ สำเร็จการศึกษานิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง  สอบได้ 81 คะแนน
                 2. กลุ่มกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีผู้เข้าสอบจำนวน 8,644 คน มีผู้สอบได้  จำนวน 1,697 คน (คิดเป็นร้อยละ 19.63)   
                         ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด ชื่อนางสาวคัคนางค์  เอมราช สำเร็จการศึกษานิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ สอบได้ 83 คะแนน
                  3. ผู้ที่สอบได้ทั้งกลุ่มวิชา คือกลุ่มกฎหมายอาญาและกลุ่มกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีจำนวน 253 คน ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด ชื่อ นางสาวอัญชลี วานิจจะกูล กลุ่มกฎหมายอาญา สอบได้ 77 คะแนน กลุ่มกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สอบได้ 74 คะแนน รวมได้ 151 คะแนน สำเร็จการศึกษานิติศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
                        คำถาม  ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์มาจาการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ซึ่งสามารถดำเนินการบังคับขับไล่จำเลยให้ออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ โดยการยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 301 ตรี นั้น จะใช้สิทธิทางศาลโดยการฟ้องขับไล่ และเรียกค่าเสียหายจากผู้ที่อยู่ ในทรัพย์สินที่ซื้อมาได้หรือไม่
                       คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่ 3712/2555 โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยโจทก์ซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ต่อมาโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ขอคิดค่าเสียหายจากจำเลยในอัตราเดือนละ 100.000 บาท ขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ และส่งมอบที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย  ให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 100,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะส่งมอบที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคืนโจทก์
                        จำเลยขาดยื่นคำให้การและไม่มาศาลในวันสืบพยานโจทก์
                     ในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในคดีนี้พอแปลได้ว่าโจทก์มีความประสงค์ขอให้ศาลบังคับคดีแก่จำเลยและบริวารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 309 ตรี จึงให้ออกคำบังคับภายใน 30 วัน ให้โจทก์นำส่ง  การส่งหากไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด ให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ
                  โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
                       ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงประการเดียวว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ว่า ตามคำฟ้องของโจทก์พอแปลได้ว่าเป็นการขอให้บังคับคดีแก่จำเลยและบริวาร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309ตรี  จึงออกคำบังคับภายใน 30วัน และให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ นั้น เป็นการชอบหรือไม่  เห็นว่า แม้ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์ โจทก์จะสามารถดำเนินการบังคับขับไล่จำเลยให้ออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์ซื้อมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลได้ โดยการยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ตรี แต่บทบัญญัติมาตราดังกล่าวก็ไม่ได้บัญญัติห้ามหรือตัดสิทธิของจทก์ในการที่จะใช้สิทธิทางศาลโดยการฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายเดือนละ 100,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จากผู้ที่อยู่ในทรัพย์สินที่โจทก์ซื้อมาจากขายทอดตลอดตามคำสั่งศาลโดยละเมิด  ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ออกคำบังคับตามมาตรา 309 ตรี และให้จำหน่ายคดีโจทก์เสียจากสารบบความ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่เห็นฟ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
                      พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับคดีโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ
                    คำถาม  ผู้รับประกันภัยรถยนต์คัดเกิดเหตุที่ถูกลักได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ไปแล้ว จะยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ราคารถโดยอ้างว่าเป็นผู้รับช่วงสิทธิของผู้เสียหายมาในคดีอาญาได้หรือไม่
                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
            คำพิพากษาฎีกาที่ 880/2555 จำเลยลักรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 2 ในขณะอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายที่ 1 ไป  ผู้เสียหายทั้งสองจึงเป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์  และเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) มีสิทธิเรียกร้องทรัพย์สินคือรถยนต์หรือราคารถยนต์ที่ผู้เสียหายสูญเสียไป เนื่องจากการกระทำผิดคืนได้  ผู้ร้อง (ผู้รับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุ)  มิใช่ผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ของจำเลยโดยตรง  เพียงแต่อ้างสิทธิในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่ถูกจำเลยลักไป ซึ่งได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยและใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลย ดังนั้น ความเสียหายของผู้ร้องที่ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไป จึงเกิดขึ้นจากความรับผิดตามสัญญาประกันภัยมิใช่เกิดจากกระทำผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นการกระทำละเมิดของจำเลย สิทธิเรียกร้องความเสียหายของผู้ร้องจึงมิใช่เป็นการเรียกร้องในมูลละเมิดเช่นเดียวกันกับผู้เสียหายทั้งสอง
                  สิทธิของผู้เสียหายที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 เป็นสิทธิเฉพาะตัวโดยแท้ของผู้เสียหายหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนตามมาตรา 4,5และ6 ผู้เสียหายที่จะถือว่าเป็นเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 50 จึงหมายถึงเสียหายในคดีอาญาเท่านั้น เมื่อผู้ร้องมิได้เป็นคู่ความหรือผู้เสียหาย คำพิพากษาย่อมไม่มีผลผูกพันผู้ร้อง ผู้ร้องชอบจะไปฟ้องร้องเป็นคดีใหม่และไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เสียหายเป็นเจ้าหนี้ในคดีนี้ได้
          คำถาม  หนังสือสัญญาขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระบุว่า ผู้ขายได้รับเงินค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ซื้อขายเรียบร้อยแล้ว ศาลจะรับฟังพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบและฟังว่าผู้ซื้อยังค้างชำระค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างได้หรือไม่
                       คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  640/2555 การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456วรรคแรก เป็นกรณีที่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง  เมื่อหนังสือสัญญาขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระบุว่า โจทก์ทั้งสองได้ชำรราคาและจำเลยทั้งสองได้รับเงินค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ซื้อขายเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องฟังยุติไปตามนั้น จำเลยทั้งสองนำสืบพยานบุคคลว่ายังไม่ได้รับชำระค่าที่ดินครบถ้วน จึงเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 (ข)

                                                                                   นายประเสริฐ  เสียงสุทธิวงศ์

                                                                                              บรรณาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น