วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

บทบรรณาธิการ ภาค2 สมัย66 เล่ม12

                           คำถาม  ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและยกคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลโดยถือว่าไม่มีพยานมาไต่สวน การอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล การอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี จะต้องอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาใด      
                       คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  6979-6980/2555  ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ เนื่องจากศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 แลที่ 3 เลื่อนคดีถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีพยานมาไต่สวน และในส่วนของจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วเชื่อว่าจำเลยที่ 3  ยังพอมีทรัพย์สินที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาลได้ จึงไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์เช่นนี้ เท่ากับศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ใช่ผู้ที่ไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ จึงไม่อาจใช้สิทธิดังกล่าวได้ ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่มีคำสั่งตาม ป.วิ.พ.มาตรา 156/1 วรรคท้าย แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวเกินกำหนดเวลาตามที่กฎหมายกำหนด จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงอุทธรณ์ในข้อที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เลื่อนคดีเพียงอย่างเดียว โดยขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำสั่งของศาลขั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เลื่อนคดีเพื่อดำเนินการไต่สวนพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อไป ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 แลที่ 3 ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์จึงยุติไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น คดีจึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาว่าสมควรอนุญาตให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เลื่อนคดีเพื่อทำการไต่สวนพยานหลักฐานจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อไปหรือไม่
                      คำถาม  ต่างฝ่ายต่างยื่นฟ้องหรือยื่นคำร้องขอต่อศาล ซึ่งคดีมีประเด็นอย่างเดียวกัน หากศาลคดีใดคดีหนึ่งได้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นแห่งคดีแล้วจะมีผลถึงอีกคดีหนึ่งหรือไม่ 
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  11369/2555 คดีก่อนบริษัท พ. และบริษัท ร. เป็นโจทก์ฟ้องผู้ร้องกับพวกเป็นจำเลยขอให้ขับไล่ผู้ร้องกับพวกออกจากที่ดินพิพาทอันเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 6505 ของบริษัท พ. และบริษัท ร. ผู้ร้องให้การในคดีนั้นว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินของผู้ร้องตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เลขที่ 114 แต่หากเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 6505 ผู้ร้องก็ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองแล้ว ระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าวผู้ร้องสละประเด็นเรื่องการครอบครอง ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 6505 และพิพากษาขับไล่ผู้ร้องกับพวกออกจากที่ดินพิพาท ส่วนคดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ คดีจึงมีประเด็นเป็นอย่างเดียวกันกับคดีก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของบริษัท พ. และบริษัท ร. หรือของผู้ร้อง คำพิพากษาในคดีก่อนย่อมผูกพันผู้ร้องซึ่งเป็นคู่ความในคดีนี้ด้วย จนถึงวันที่คำพิพากษาในคดีก่อนถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145  วรรคหนึ่ง การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอเป็นคดีนี้อีก จึงเป็นการขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นที่ได้วินิจฉัยไปแล้ว เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
                   คำพิพากษาฎีกาที่  5507/2555  ข้อเท็จจริงตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1269/2550 เป็นเรื่องที่จำเลยฟ้องโจทก์ อ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3058 โจทก์บุกรุกที่ดินดังกล่าวบางส่วน ขอให้บังคับโจทก์และบริวารออกจากที่ดินพิพาท โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์ ส่วนคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ครอบครองที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 3058 โดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันกว่า 10 ปี ขอให้พิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์ จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย เช่นนี้ มูลคดีทั้งสองคดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทอย่างเดียวกันว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือของจำเลย เมื่อโจทก์จำเลยเป็นคู่ความเดียวกันและศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1269/2550 ได้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นแห่งคดีไปแล้ว ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง
            คำถาม    บุคคลที่ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีก่อน แต่ในคดีมีการพิจารณาถึงตัวบุคคลดังกล่าวแล้วในประเด็นที่มีข้อพิพาทอย่างเดียวกับคดีหลัง จะถือเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่
                   คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้                
                   คำพิพากษาฎีกาที่  6977/2555   ในคดีก่อนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ฟ้องขับไล่โจทก์ให้ออกจากที่ดินพิพาท และในคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ซึ่งทั้งในคดีก่อนและคดีนี้จะต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันว่า โจทก์หรือจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ใครมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน แม้ในคดีก่อนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เท่านั้นที่ฟ้องขับไล่โจทก์ แต่การต่อสู้คดีโจทก์ก็นำสืบถึงจำเลยที่ 1 ว่าบิดาของจำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ทับที่ดินโจทก์ จำเลยที่ 1 ครอบครองต่อจากบิดาและตกเป็นทรัพย์มรดกแก่จำเลยที่ 1 จากนั้นจำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งการจะขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทได้ ก็ต้องพิจารณาถึงการที่จำเลยที่ 1 ได้ที่ดินพิพาทมาโดยชอบหรือไม่ ตลอดจนการขายต่อให้แก่จำเลยที่ 2 การจดทะเบียนจำนองของจำเลยที่ 2 รวมถึงการบังคับจำนองขายทอดตลาดและธนาคาร ก. เป็นผู้ซื้อได้แล้วขายต่อให้แก่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 นั้นสุจริตหรือไม่ ซึ่งทางนำสืบต่อสู้ของโจทก์ในคดีก่อนก็มีข้อเท็จจริงที่ตรงกับฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ แม้ในคดีก่อนจะมีเพียงจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ที่ฟ้องขับไล่โจทก์แต่ก็มีการพิจารณาถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วในประเด็นที่มีข้อพิพาทอย่างเดียวกัน ต่อมาโจทก์อ้างเหตุอย่างเดียวกันมาฟ้องจำเลยทั้งห้าในคดีนี้อีก เมื่อศาลในคดีก่อนมีคำพิพากษาแล้ว ย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง                         
                     คำถาม   คดีที่โจทก์ฟ้อง จำเลยยื่นคำให้การ หากศาลพิพากษาให้จำเลยแพ้คดีจำเลยจะขอให้พิจารณาคดีใหม่ อ้างข้อบกพร่องของทนายจำเลยในการดำเนินกระบวนพิจารณาได้หรือไม่
                        คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  6312/2555  ข้อเท็จจริงปรากฎว่าภายหลังจากโจทก์ฟ้องคดีและจำเลยได้รับหมายเรียกให้ยื่นคำให้การแล้ว จำเลยได้ยื่นคำให้การภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยจนคดีเสร็จการพิจารณา เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดที่ให้จำเลยเป็นฝ่ายแพคดี จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณาแพ้คดีในประเด็นที่พิพาทที่จะของพิจารณาคดีใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 207 (เดิม)  (มาตรา 199 ตรี, 207) แต่เป็นกรณีที่ศาลได้พิพากษาชี้ขาดไปตามพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลย จำเลยจึงไม่อาจขอพิจารณาคดีใหม่ได้
                      คำถาม   ฟ้องขอให้ชำระเงินคืนฐานลาภมิควรได้ โดยอ้างว่า จำเลยเรียกเอาหลักประกันการปฏิบัติผิดสัญญาจากธนาคารซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันโจทก์และธนาคารจ่ายเงินให้ไปแล้วหักเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ชำระหนี้ดังกล่าวจะถือว่ามูลคดีเกิดขึ้นที่ใด
                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่   398-399/2555   ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) บัญญัติว่าคำฟ้องให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ และคำว่า “มูลคดีเกิด” หมายถึง เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินคืนแก่โจทก์ด้วยเหตุลาภมิควรได้ โดยข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาคือ การที่จำเลยทั้งสองเรียกเอาหลักประกันการปฏิบัติผิดสัญญาจากธนาคาร ส. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันโจทก์ และธนาคารจ่ายเงินให้จำเลยทั้งสองไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ แล้วธนาคารใช้สิทธิไล่เบี้ยหักเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ชำระหนี้ดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเช่นนี้ ย่อมเห็นได้ว่าเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องเกิดขึ้น ณ ที่ทำการของธนาคาร ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการจ่ายเงินให้จำเลยทั้งสองแล้วหักเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการจ่ายเงินให้จำเลยทั้งสองแล้วหักเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ เมื่อธนาคาร ส. มีสถานที่ตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดั้งกล่าว
                     จำเลยที่ 2 เป็นคู่ความเฉพาะสำนวนแรก การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความสำนวนละ 4,000 บาท จึงไม่ถูกต้อง
                    คำถาม  ที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จะยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องมีสิทธิครอบครอง และให้เจ้าหน้าที่จดทะเบียนการได้มาให้แก่ผู้ร้องได้หรือไม่
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  7743/2555  บุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 นั้น ต้องเป็นกรณีจำเป็นจะต้องมาร้องขอต่อศาลเพื่อให้ได้รับความรับรองหรือคุ้มครองตามสิทธิของตนที่มีอยู่โดยจะต้องมีกฎหมายระบุไว้แจ้งชัดว่าให้กระทำได้ แต่กรณีตามคำร้องขอของผู้ร้องมิใช่เป็นการขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าผู้ร้องเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 เนื่องจากที่ดินตามคำร้องขอเป็นที่ดินที่ยังไม่มีโฉนดคงมีแต่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เท่านั้น ซึ่งไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้ผู้ร้องใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแต่ฝ่ายเดียวได้ หากผู้ร้องเห็นว่าผู้ร้องมีสิทธิครอบครองในที่ดินและถูกบุคคลใดโต้แย้งสิทธิประการใดก็ชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลโดยทำเป็นคำฟ้องอันเป็นคดีมีข้อพิพาท หาใช่เสนอคดีโดยทำเป็นคำร้องขออันเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทไม่
                                           
                                                                                               นายประเสริฐ  เสียงสุทธิวงศ์

                                                                                                             บรรณาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น