วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

บทบรรณาธิการ ภาค 2 สมัย 66 เล่ม 8

                      คำถาม   การสอบจำเลยเรื่องทนายความก่อนนั่งพิจารณา การอ่านคำพิพากษาเป็นอำนาจของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นคนเดียวหรือไม่
                      ผู้พิพากษาสองคนนั่งพิจารณาครบองค์คณะแล้ว หากมีผู้พิพากษาอีกคนหนึ่งมาร่วมลงลายมือชื่อชื่อโดยที่ไม่ได้นั่งพิจารณาจะถือว่าเป็นการไม่ชอบหรือไม่
                       คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  5412/2554   ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัย ตามฎีกาของจำเลยว่า ผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นออกนั่งพิจารณาครบองค์คณะตามที่บัญญัติไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 236 ที่ใช้บังคับในขณะนั้นหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคสอง บัญญัติว่า ....ก่อนเริ่มพิจารณาในศาล ถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้   แม้ในวันดังกล่าวเป็นเพียงวันที่ศาลสอบถามจำเลยเรื่องทนายความเท่านั้น ซึ่งศาลจะสอบคำให้การจำเลยและสืบพยานในนัดต่อก็ตาม การสอบจำเลยเรื่องทนายความก่อนเริ่มการพิจารณาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวก็เป็นการที่ศาลออกนั่งเกี่ยวกับการพิจารณาคดี จึงเป็นการนั่งพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (9) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ซึ่งจะต้องอยู่ในบังคับของพระธรรมนูญศาลยุติธรรมว่าด้วยองค์คณะผู้พิพากษา แต่เมื่อการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปเพื่อออกคำสั่งใด ๆ ซึ่งมิใช่การชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีจึงเป็นอำนาจของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นคนเดียวตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) ดังนั้น การที่ผู้พิพากษาของศาลชั้นต้นคนเดียวได้สอบจำเลยเรื่องทนายความและได้ลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนการพิจารณาจึงชอบแล้วและฎีกาของจำเลยที่ว่าการสืบพยานประเด็นโจทก์ที่ศาลอาญามีผู้พิพากษาคนหนึ่งมิได้ร่วมนั่งพิจารณา แต่ได้ลงลายมือชื่อในคำให้การพยานและรายงานกระบวนพิจารณาและการสืบพยานในศาลชั้นต้นทุกครั้ง และในวันอ่านคำพิพากษามีผู้พิพากษาคนหนึ่งไม่ได้ร่วมพิจารณาด้วยมาลงลายมือชื่อเป็นการขัดต่อกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่รับวินิจฉัย  เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า การสืบพยานโจทก์ที่ศาลอาญามีผู้พิพากษาสองคนนั่งพิจารณาครบองค์คณะแล้ว แม้หากผู้พิพากษาศาลอาญาอีกคนหนึ่งมาร่วมลงรายชื่อโดยที่ไม่ได้นั่งพิจารณาก็เป็นเพียงการดำเนินกระบวนพิจารณาเกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น หามีผลให้การนั่งพิจารณาที่ถูกต้องกลับกลายเป็นไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ การสืบพยานในศาลชั้นต้นทุกครั้งก็ปรากฎตามบันทึกคำเบิกความและรายงานกระบวนการพิจารณาของศาลชั้นต้นว่าในแต่ละครั้งมีลายมือชื่อผู้พิพากษาสองคนลงลายมือชื่อไว้ จึงต้องฟังตามรวยงานกระบวนการพิจารณาว่าในวันดังกล่าวมีผู้พิพากษาสองคนของศาลชั้นต้นนั่งพิจารณาคดีอันเป็นการนั่งพิจารณาครบองค์คณะ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 แล้ว หาได้เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา  236  ที่ใช้บังคับในขณะนั้น ดังที่จำเลยฎีกาไม่ ส่วนการอ่านคำพิพากษาเป็นการดำเนินการหลังคดีเสร็จการพิจารณา ทั้งผู้พิพากษาได้ลงลายชื่อในคำพิพากษาครบองค์คณะตามกฎหมายแล้ว การอ่านคำพิพากษาย่อมกระทำได้โดยผู้พิพากษาคนเดียว การดำเนินกระบวนพิจารณาและการอ่าน คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว
                   คำถาม   คดีร้องขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบต่อศาลจังหวัด  ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง ชอบหรือไม่
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
             คำพิพากษาฎีกาที่  8492/2548   คดีนี้ศาลชั้นต้นเป็นศาลจังหวัด การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีนี้และมีคำสั่งยกคำร้องขอคืนของกลางของผู้ร้องโดยผู้พิพากษาคนเดียวเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดีนั้น เป็นการไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2)  และมาตรา 26 เนื่องจากการพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวมีลักษณะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวที่จะออกคำสั่งได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 จึงเป็นกรณีศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย และศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยังไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องเสียก่อน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้  ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ปะกอบมาตรา 225
                    คำถาม   ฟ้องขอให้ลงโทษฐานลักทรัพย์ แต่คำฟ้องไม่ระบุชื่อเจ้าของทรัพย์ หากกล่าวในคำฟ้องว่า ขณะนี้จำเลยต้องขังอยู่ตามหมายขังของศาลชั้นต้นในคดีนี้ซึ่งหมายขังดังกล่าวได้ระบุชื่อเจ้าของทรัพย์ไว้ จะถือว่าฟ้องชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 หรือไม่
                      คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
             คำพิพากษาฎีกาที่  9587/2554  แม้ ป. วิ. อ. มาตรา 158 (5) บัญญัติว่า ฟ้องต้องบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ  อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และคดีความผิดฐานลักทรัพย์ตามลักษณะของความผิดจะต้องเป็นทรัพย์ของผู้อื่น มิใช่เป็นของผู้กระทำผิดนั้นเอง ซึ่งโดยปกติฟ้องต้องระบุชื่อเจ้าของทรัพย์เสมอไป คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้วคงขาดแต่ชื่อเจ้าของทรัพย์เท่านั้น แต่เมื่ออ่านคำฟ้องโดยตลอดก็พอทราบได้ว่าผู้เสียหายที่เป็นเจ้าของทรัพย์คือผู้ใด เพราะในตอนท้ายฟ้องได้กล่าวไว้ด้วยว่าระหว่างสอบสวนจำเลยถูกควบคุมตัวตั้งแต่ถูกจับตลอดมา ขณะนี้ต้องขังอยู่ตามหมายขังของศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขดำที่ ฝ. 1283/2552 ซึ่งพอจะอนุโลมได้ว่าเป็นส่วนประกอบของคำฟ้อง และปรากฏว่าคดีหมายเลขดำที่ ฝ. 1283/2552 ได้ระบุชื่อเจ้าของทรัพย์ไว้  จำเลยน่าจะเข้าใจได้ดีว่าทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องเป็นของผู้ใด ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
                     คำถาม  คำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย หากในชั้นศาลโจทก์ไม่ได้ตัวมาเบิกความ เพราะหลังเกิดเหตุผู้เสียหายหลบหนีออกจากบ้านไป ไม่อาจหาตัวและที่อยู่ได้ ศาลจะรับฟังคำให้การของผู้เสียหายดังกล่าวได้หรือไม่
                      คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  11713/2554  แม้คำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายจะเป็นพยานบอกเล่า แต่เมื่อได้ความว่าโจทก์ไม่สามารถนำผู้เสียหายมาเบิกความเป็นพยาน เนื่องจากหลังเกิดเหตุผู้เสียหายหลบหนีออกจากบ้านไป ไม่อาจหาตัวและที่อยู่ได้ แต่ผู้เสียหายได้ให้การต่อพนักงานสอบสวน นักสังคมสงเคราะห์ และพนักงานอัยการไว้ ตามบันทึกคำให้การผู้เสียหายอันเป็นการปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ แล้ว ศาลย่อมรับฟังคำให้การของผู้เสียหายประกอบกับพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ซึ่งเป็นพยานแวดล้อมที่อยู่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ได้
                 คำถาม   ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ หากศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นฎีกา จะมีผลไปถึงโจทก์ร่วมด้วยหรือไม่
                      คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้                                              
                คำพิพากษาฎีกาที่  8698/2554  แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 2 (14) ให้ความหมายของคำว่า โจทก์ ว่า หมายความถึงพนักงานอัยการ หรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาล หรือทั้งคู่ในเมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน และโจทก์ร่วมเข้ามาดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองโดยอาศัยสิทธิตามฟ้องของพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 ก็ตาม แต่สิทธิในการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาตาม  ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป. วิ. อ. มาตรา 15 เพื่อใช้สิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 นั้น เป็นสิทธิเฉพาะตัวของคู่ความแต่ละคน การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นฎีกาจนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2552 จึงเป็นเรื่องเฉพาะตัวของโจทก์เท่านั้นไม่มีผลถึงโจทก์ร่วมแต่อย่างใด การที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอขยายเวลายื่นฎีกา เมื่อสิ้นระยะเวลาฎีกาสำหรับโจทก์ร่วมแล้ว ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาได้เฉพาะเมื่อมีเหตุสุดวิสัย ซึ่งเหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ.มาตรา 15 นั้น หมายถึงเหตุที่ทำให้ศาลไม่สามารถมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาหรือคู่ความไม่สามารถมีคำขอเช่นนั้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่จะกระทำได้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ กรณีจึงไม่เหตุสุดวิสัยที่จะอนุญาตให้โจทก์ร่วมขยายระยะเวลายื่นฎีกาได้
                   คำถาม   โจทก์และจำเลยมีเจตนาก่อนิติสัมพันธ์กันเป็นสัญญาจะซื้อขายโดยการวางมัดจำ ภายหลังมีการทำสัญญาจะซื้อจะขายเป็นหนังสือ กรณีจะอยู่ในบังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 94 ที่ห้ามรับฟังพยานบุคคลเพิ่มเติม ตัดทอน แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารหรือไม่
                    คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  8163/2554  โจทก์ตกลงซื้อที่ดินและบ้านจากจำเลยตามใบโฆษณา โดยวางมัดจำไว้ หลังจากนั้นโจทก์และจำเลยจึงได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายแสดงว่า โจทก์และจำเลยมีเจตนาก่อนิติสัมพันธ์กันเป็นสัญญาจะซื้อจะขายโดยการวางมัดจำตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง ซึ่งมิได้กำหนดแบบไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์จำเลยจึงเกิดขึ้นนับแต่เวลาที่โจทก์วางมัดจำไว้ มิใช่เพิ่งเกิดในภายหลังเมื่อมีการทำสัญญาจะซื้อจะขายเป็นหนังสือ กรณีจึงไม่ตกอยู่ในบังคับข้อห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 ที่จำกัดเฉพาะกรณีที่กฎหมายกำหนดว่าข้อเท็จจริงในเรื่องที่ฟ้องกันนั้นจะต้องแสดงให้ปรากฏด้วยการนำสืบพยานเอกสารจึงห้ามนำพยานบุคคลเข้าสืบเพื่อเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารที่ได้นำมาแสดงแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังพยานบุคคลที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยตกลงจะหาสถาบันการเงินให้โจทก์กู้ยืมชำระหนี้ส่วนที่เหลืออยู่คืนจำเลย โดยมีระยะเวลาผ่อนชำระหนี้นาน 15 ปีได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าธนาคารที่จำเลยติดต่อให้โจทก์กู้ไม่ยอมให้โจทก์ชำระหนี้ได้นาน 15 ปี เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้าน จำเลยจึงไม่อาจกล่าวอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาและริบเงินทั้งหมดที่โจทก์ชำระไว้แล้ว  
                    คำถาม    คำสั่งที่กฎหมายบัญญัติว่าให้เป็นที่สุด จะขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้หรือไม่
                    คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  4745/2554   ข้อกฎหมายที่จะขออนุญาตอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ ได้นั้น จะต้องเป็นข้อกฎหมายที่สามารถอุทธรณ์และฎีกาไปยังศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาได้  การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอให้งดการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 193 กฎหมายบัญญัติให้คำสั่งเป็นที่สุดไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงตามวรรคสามของบทบัญญัติมาตราดังกล่าว จำเลยทั้งสองจะขออนุญาตอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ หาได้ไม่
                       

                                                                                                    นายประเสริฐ  เสียงสุทธิวงศ์

                                                                                                                  บรรณาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น