วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

บทบรรณาธิการ ภาค1 สมัย66 เล่ม7

                                                    บทบรรณาธิการ    
                     คำถาม   การได้ภาระจำยอมมาโดยทางนิติกรรมแต่ไม่ได้จดทะเบียน หากเจ้าของภารยทรัพย์ถึงแก่ความตาย สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ตามสัญญาภาระจำยอมจะตกแก่ทายาทเจ้าของภารยทรัพย์หรือไม่
                    คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  2975/2553  น. เสนอขายที่ดินโดยนำรูปแผนที่หลังโฉนดที่ดินมาแสดงแก่โจทก์เพื่อยืนยันรับรองว่า  หากโจทก์ซื้อที่ดินของ น.โจทก์ก็มีสิทธิใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกและใช้ประโยชน์เกี่ยวแก่การสาธารณูปโภคสำหรับที่ดินที่ซื้อได้  เมื่อโจทก์ตกลงซื้อที่ดินตามที่ น. เสนอ จึงเกิดเป็นสัญญาก่อให้เกิดภาระจำยอม  การที่ น. ไม่ได้จดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่โจทก์ คงมีผลเพียงทำให้ภาระจำยอมดังกล่าวยังไม่เป็นทรัพยสิทธิที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่ก็เป็นบุคคลสิทธิใช้บังคับกันได้ในระหว่างคู่สัญญา และไม่ใช่สิทธิที่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของ น. โดยแท้ เมื่อ น. ถึงแก่ความตาย  สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ตามสัญญาภาระจำยอมย่อมตกทอดแก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทตามมาตรา  1599 และมาตร 1600 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนภาระจำยอม และบังคับให้จำเลยรื้อถอนรั้ว เสาปูนและลวดหนามที่ปิดกั้นทางพิพาท ซึ่งเป็นภารยทรัพย์ออกได้
                   คำถาม  ทนายความเรียกเงินค่าขึ้นศาลจากลูกความเกินว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด กับว่าจะดำเนินคดีให้แล้วเสร็จใน 60 วัน เป็นความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่
                   คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  6476/2554  ข้อความตามหนังสือการรับเงินของจำเลยที่ออกให้แก่ น. ผู้เสียหายระบุว่า  “ ได้รับเงินค่าดำเนินคดีจาก น. เพื่อดำเนินคดีเพิกถอนการให้จาก ป. และ ส. จำนวน 560,000 บาทไว้ครบแล้ว โดยทนายความดำเนินคดีให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันทำหนังสือนี้ บรรดาค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ทางโจทก์จะได้รับคืนภายหลังเสร็จคดีภายใน  7 วัน จำนวน 3 ใน 4 ส่วนของเงินค่าใช้จ่ายทั้งหมด  โดยทนายความคิดค่าทนาย 3 เปอร์เซ็นต์ ของเงินที่โจทก์ได้รับสุทธิทั้งหมด”  ข้อความทั้งหมดมีความหมายว่า เรียกเป็นค่าดำเนินคดีจำนวน 560,000 บาท ซึ่งผู้เสียหายและ ค. ยืนยันว่าจำเลยแจ้งว่าเงินจำนวน 560,000 บาท เป็นเงินที่ต้องวางศาล ต่อมาจำเลยยังเรียกเพิ่มอีก 200,000 บาท อ้างว่าเป็นเงินวางศาลเพิ่ม เงินทั้งสองจำนวนเห็นได้ว่ามีเป็นจำนวนมาก จึงน่าเชื่อว่าผู้เสียหายหลงเชื่อโดยสนิทใจว่าเป็นเงินที่ต้องนำไปวางศาล จึงยอมจ่ายเงินจำนวนมากให้แก่จำเลยโดยไม่ลังเล  เช่นนี้  จำเลยเป็นทนายความย่อมจะต้องทราบดีว่าค่าขึ้นศาลตาม ป.วิ.พ. แม้ทุนทรัพย์จะมากเพียงใดก็จะต้องชำระไม่เกิน 200,000 บาท ดังนั้น ข้อความที่จำเลยเรียกเงินจำนวน 560,000 บาท อ้างว่าเป็นเงินวางศาลดังกล่าวจึงเป็นความเท็จและปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง เพราะค่าธรรมเนียมศาลมีจำนวนไม่มากถึงจำนวนที่จำเลยอ้าง และจำเลยไม่เคยนำเงินจำนวนใด ๆ ไปวางเป็นค่าธรรมเนียมที่ศาลแต่อย่างใด  ทั้งข้อความในหนังสือการรับเงินของจำเลยที่ว่า ทนายความดำเนินคดีให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันทำหนังสือนี้ก็เป็นเท็จ เพราะการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีจะกำหนดวันแน่นอนตายตัวว่า จะต้องเสร็จสิ้นภายใน 60 วัน ย่อมไม่อาจเป็นไปได้และจำเลยมิได้ดำเนินการใด ๆ ทางคดีให้แก่ผู้เสียหายตามที่อ้างแต่แรกทั้งยังรับเงินจากผู้เสียหายไปแล้วถึง  810,000 บาท ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตฉ้อโกงผู้เสียหายมาตั้งแต่ต้น
                    คำถาม   ผู้เช่าให้เช่าช่วงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่า หากผู้เช่าเปลี่ยนกุญแจอาคารที่เช่า ทำให้ผู้เช่าช่วงเข้าครอบครองอาคารไม่ได้ จะเป็นความผิดฐานบุกรุกหรือไม่
                    คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  7445/2554  การที่จำเลยให้ ม. เช่าช่วงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่า  ผู้เช่าช่วงจึงมีฐานะเป็นเพียงบริวารของผู้เช่า  แต่ผลของการเป็นบริวารของผู้เช่าจะมีก็เพียงการไม่มีอำนาจพิเศษที่จะอ้างอาศัยในที่เช่าต่อผู้ให้เช่าเท่านั้น หาได้กระทบความสัมพันธ์อันเป็นบุคคลสิทธิระหว่างจำเลยผู้ให้เช่าช่วงกับผู้เสียหายซึ่งได้รับอนุญาตจากจำเลยให้เข้าครอบครองอาคารพิพาทไม่  เมื่อจำเลยจะกลับเข้าครอบครองอาคารพิพาทผู้เสียหายก็ได้โต้แย้งสิทธิการเช่าที่มีต่อจำเลยแล้ว กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยทราบแล้วว่าผู้เสียหายไม่ยินยอมมอบอาคารพิพาทให้แก่จำเลย โดยอ้างสัญญาที่มีต่อจำเลย จำเลยทั้งที่รู้ว่าผู้เสียหายยังครอบครองอาคารและโต้แย้งจำเลยในเรื่องความระงับของสัญญาเช่าได้เปลี่ยนกุญแจ ทำให้ผู้เสียหายเข้าครอบครองอาคารไม่ได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานบุกรุก
                    คำถาม  วันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญาจะซื้อที่ดินตรงกับวันอาทิตย์ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายไม่อาจดำเนินการขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ หลังจากวันดังกล่าวคู่สัญญามิได้เรียกร้องให้ปฏิบัติตามสัญญาต่อกัน ผลของสัญญาจะเป็นอย่างไร
                   คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  8188/2554  เมื่อกำหนดวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ตามที่ระบุในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตรงกับวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม 2547 คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจึงไม่อาจดำเนินการขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ และในวันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม 2547 คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างไม่ได้ไปที่สำนักงานที่ดินเพื่อดำเนินการดังกล่าวเช่นกัน จึงยังถือไม่ได้ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายผิดสัญญา และสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทน โดยโจทก์ผู้จะซื้อมีหน้าที่ต้องชำระราคาให้แก่จำเลยผู้จะขาย  ส่วนจำเลยผู้จะขายมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ผู้ซื้อ เมื่อไม่ปรากฏว่าภายหลังจากวันดังกล่าวคู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้มีการเรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติตามสัญญาต่อกัน จึงถือว่าคู่สัญญาตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยาย และเมื่อสัญญาเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำที่รับไว้แก่โจทก์
                   คำถาม   สมัครใจเข้าวิวาทจะอ้างป้องกันหรือบันดาลโทสะได้หรือไม่
                   คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  8347/2554  ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายมีเรื่องทะเลาะโต้เถียงกับจำเลยซึ่งนั่งดื่มสุราอยู่ที่ร้านใกล้ที่เกิดเหตุ  จึงเชื่อว่าเป็นสาเหตุให้จำเลยไม่พอใจผู้เสียหายเป็นอย่างมาก ในวันเกิดเหตุเมื่อผู้เสียหายออกจากร้านไปแล้ว  ผู้เสียหายร้องตะโกนท้าทายจำเลยให้ออกไป จะฟังให้คอขาด จำเลยจึงรีบวิ่งไปหาผู้เสียหาย ถือได้ว่าจำเลยสมัครใจเข้าวิวาทและต่อสู้กับผู้เสียหาย และเป็นการกระทำที่จำเลยเข้าสู้ภัยทั้งที่ยังไม่มีภยันตรายมาถึงตน จึงเป็นการกระทำโดยที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ แม้ผู้เสียหายจะทำร้ายจำเลยก่อน ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะที่จำเลยกับผู้เสียหายสมัครใจวิวาทกัน  ดังนั้น จำเลยจึงไม่อาจที่จะอ้างสิทธิป้องกันได้ตามกฎหมาย และแม้จำเลยมีความไม่พอใจผู้เสียหายเป็นอย่างมาก แต่เมื่อจำเลยสมัครใจที่จะไปต่อสู้กับผู้เสียหายเองก็ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุบันดาลโทสะได้เช่นเดียวกัน การกระทำของจำเลยไม่เป็นการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นการกระทำโดยเหตุบันดาลโทสะ
                        คำถาม  การถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม มีหลักในการวินิจฉัยอย่างไร
                       คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  7835/2554  กรณีที่จะเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72  ต้องเป็นเรื่องที่ผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม โดยพิจารณาเปรียบเทียบกับความรู้สึกของคนธรรมดาหรือวิญญูชนทั่วไปว่าผู้ที่อยู่ในภาวะ วิสัย และพฤติการณ์อย่างเดียวกับจำเลยนั้น ถือได้ว่าจำเลยผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมหรือไม่ หาใช่ถือเอาตามความรู้สึกนึกคิดของตัวจำเลยผู้กระทำความผิดเอง ที่จำเลยฎีกาว่าการที่ผู้เสียหายจอดรถจักรยานยนต์ขวางหน้ารถยนต์ที่จำเลยกับ พ. กำลังพูดคุยกันก็เพื่อแสดงให้จำเลยเห็นว่า พ. มีใจให้ผู้เสียหาย เป็นการดูถูกเหยียดหยามและเย้ยหยันจำเลยต่อหน้าคนรัก จำเลยจึงเกิดอาการโกรธเนื่องจากหึงหวงเป็นเหตุให้ทำร้ายผู้เสียหายนั้น ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ
                      คำถาม   การพาเด็กไป โดยมิได้มีเจตนาที่จะเรียกร้องเอาทรัพย์สินเพื่อเป็นค่าไถ่ แต่เรียกร้องเอาทรัพย์สินที่เชื่อว่าควรจะได้ จะเป็นความผิดฐานใด
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่  9046/2554  จำเลยและผู้เสียหายรู้จักคุ้นเคยกันมานาน จำเลยเคยเลี้ยงดูบุตรคนอื่นของผู้เสียหายก่อนเกิดเหตุมาแล้ว 2 คน การที่จำเลยพาเด็กหญิง ฟ. ไปจากผู้เสียหายตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2549 ในวันดังกล่าวจำเลยและผู้เสียหายได้พูดคุยกันทางโทรศัพท์ จำเลยก็ไม่ได้เรียกร้องทองคำและเงินจาก อ. ในทันที จำเลยพึ่งจะโทรศัพท์ถึง ต. น้องสาวผู้เสียหายในวันที่ 11 มิถุนายน  2549 และมีการพูดคุยให้ผู้เสียหายนำทองคำหนัก 5 บาท และให้ อ. นำเงินจำนวน  500,000 บาทไปมอบให้แก่จำเลย จึงน่าเชื่อว่าการที่จำเลยพาเด็กหญิง ฟ. ไปจากผู้เสียหาย จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะเรียกร้องเอาทองคำและเงินจำนวนดังกล่าวจากผู้เสียหาย และ อ. เพื่อเป็นค่าไถ่มาตั้งแต่แรก การที่จำเลยโทรศัพท์ถึง ต. น้องสาวผู้เสียหายในวันที่  1 มิถุนายน 2549 และมีการเรียกร้องเอาทองคำจากผู้เสียหายและเงินจาก อ. ก็ได้ความว่าเป็นการเรียกร้องเอาทองคำเท่ากับจำนวนที่จำเลยมอบทองคำให้ผู้เสียหายไปจำนำ ส่วนจำนวนเงินที่จำเลยเรียกร้องจาก อ.นั้น แม้จะเป็นจำนวนเกินกว่าที่จำเลยอ้างว่า อ. เป็นหนี้จำเลย แต่ก็ได้ความว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินค่าที่ดินที่ อ. จะต้องคืนให้แก่จำเลย โดยจำเลยให้การด้วยว่าจำเลยได้ลงทุนปรับที่ดินที่ซื้อจาก อ. และใช้เงินไปมากแล้ว ทั้งข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่า อ. เป็นญาติหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้เสียหายหรือเด็กหญิง ฟ. ที่จำเลยจะใช้เป็นเงื่อนไขในการเรียกร้องเงินจาก อ. จึงน่าเชื่อว่าจำเลยมีเจตนาที่จะเรียกร้องเอาทองคำและเงินที่จำเลยเชื่อว่าจำเลยควรจะได้ ดังนั้น ทองคำและเงินที่จำเลยเรียกร้องจากผู้เสียหายและ อ. ดังกล่าวจึงมิใช่ค่าไถ่ตาม ป.อ.มาตรา 1 (13) การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 313 แต่การที่จำเลยพาเด็กหญิง ฟ. ซึ่งมีอายุเพียง 1 ปีเศษ ไปจากผู้เสียหายและไม่ยอมคืนให้แก่ผู้เสียหายดังกล่าว เป็นการหน่วงเหนี่ยวเด็กหญิง ฟ. อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานเรียกค่าไถ่ตาม ป.อ. มาตรา  313 (3) วรรคแรก ที่โจทก์ฟ้อง ศาลฎีกาจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรกได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย


                                                                           นายประเสริฐ   เสียงสุทธิวงศ์

                                                                     บรรณาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น